10 ขั้นตอนในการเปิดร้าน Drop Shipping กับ Shopify

1217
20

10 ขั้นตอนในการเปิดร้าน Drop Shipping กับ Shopify

รู้หรือไม่ว่าเราสามารถสร้างเว็บไซต์ Drop Shipping แบบมืออาชีพที่สร้างรายได้ให้กับเราได้จริง ภายในระยะเวลาเพียงแค่ 1 วัน กับต้นทุนเพียงแค่ $65 หรือ 2,000 บาทนิดๆ เท่านั้น  ผมเป็นคนหนึ่งที่ได้ทำมันสำเร็จแล้ว ทั้งที่ไม่เคยมีประสบการณ์ใด ๆ มาก่อนเลย  บทความนี้จะอธิบาย 10 ขั้นตอนง่าย ๆ ในการสร้างเว็บไซต์ Drop Shipping กับ Shopify  ซึ่งอันดับแรกเราต้องลงทะเบียนกับ Shopify ก่อน  เมื่ออ่านบทความนี้จบและทำตามขั้นตอนควบคู่กันไป เราก็จะมีเว็บไซต์ Drop Shipping เป็นของเราเองอย่างแน่นอน

*ถึงแม้คุณจะไม่ได้ทำร้าน dropship ต้องการเพียงแค่เปิดร้านของตัวเอง ก็สามารถใช้คู่มือในหน้านี้ได้เช่นเดียวกัน

ก่อนที่เราจะเปิดร้าน Drop Shipping เป็นของตัวเองได้ เราจะต้องระบุตลาดเฉพาะกลุ่ม คู่แข่ง และผู้จำหน่ายสินค้าของเราเสียก่อน  หวังว่าคุณคงมีสินค้าในใจแล้วนะครับ  แต่ตอนนี้เรามาทำตามขั้นตอนในการสร้างเว็บไซต์ Drop Shipping กันก่อน ซึ่งเว็บไซต์ของผมจะมีชื่อว่า YourStandingDesk.com   

[button size=”large” url=”https://www.hostnog.com/gotoshopify” ]ไปที่เวบ Shopify[/button]

ขั้นตอนที่ 1: ลงทะเบียนกับ Shopify

อันดับแรกให้เราเข้าเว็บไซต์ Shopify และเริ่มใช้งานแบบทดลอง 14 วัน โดยใส่อีเมล์ของเรา ลงไปที่ช่องว่างได้เลย จากนั้นคลิก Get Started

จากนั้นก็จะให้เราตั้ง password และชื่อร้าน

หากชื่อร้านของเรามีคนใช้ไปแล้ว เราจะไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้  ทางที่ดีเราควรจะเตรียมชื่อร้านเผื่อไว้อย่างน้อยสัก 5 ชื่อเพื่อความสะดวกรวดเร็ว

เมื่อเรากรอกชื่อร้านและข้อมูลการติดต่อเบื้องต้นเรียบร้อยแล้ว ต่อไปเราจะต้องระบุว่าธุรกิจของเรากำลังอยู่ในระยะไหน  ร้าน YourStandingDesk ของผมเป็นแบรนด์ธุรกิจใหม่ ผมจึงเลือกคำตอบที่ตรงกับธุรกิจของผมจากตัวเลือกในแทป

หลังจากนั้น Shopify จะพาเราเข้าสู่หน้าการจัดการเว็บไซต์ (หน้า admin) ซึ่งจะมีหน้าตาตามภาพด้านล่างนี้

เมื่อเลื่อนลงมาเราจะพบหัวข้อ “Where would you like to start selling?” ทางขวามือใต้หัวข้อนี้เราจะพบปุ่มที่เขียนว่า “Add Online Store”

ร้าน Drop Shipping ของผมตั้งเป้าว่าจะขายทางออนไลน์เท่านั้น ผมเลยโฟกัสในหมวดการขายออนไลน์อย่างเดียว (หากอยากเรียนรู้เพิ่มเติมในการขายแบบออฟไลน์กับ Shopify คลิกที่นี่) การคลิกปุ่ม “Add Online Store” จะพาผมกลับไปที่หน้าแอดมิน ซึ่งจะมีแทปใหม่ที่เพิ่มเข้ามาทางซ้ายมือชื่อ “Online Store”

ขั้นตอนที่ 2: ซื้อชื่อโดเมนเว็บไซต์

เมื่อถึงขั้นตอนนี้ ผมแนะนำให้เราซื้อชื่อโดเมนสำหรับเว็บไซต์ไว้เลย  บางคนอาจจะรอไว้ทำในภายหลัง แต่นั่นเป็นการเสี่ยงเปิดโอกาสให้คนอื่นนำชื่อเว็บที่เราต้องการไปใช้เสียก่อน  ด้วยราคาเพียงแค่ $13.00 การตัดสินใจครั้งนี้แทบจะไม่ต้องคิดมากเลย

ถ้าเราตัดสินใจไม่ซื้อชื่อโดเมน URL ของเว็บไซต์เราก็จะมีหน้าตาประมาณนี้

“YourStandingDesk.myshopify.com” ซึ่งแม้จะใช้การได้ตามปกติ แต่ภาพลักษณ์จะดูไม่น่าเชื่อถือ และไม่มีความเป็นมืออาชีพสักเท่าไร  ธุรกิจที่ดีควรจะมีชื่อโดเมนเป็นของตัวเอง  นี่เป็นหนึ่งในสิ่งที่ลูกค้าและผู้จำหน่ายสินค้าคาดหวัง

ในการซื้อชื่อโดเมน ให้คลิกที่ “Online Store” จากนั้นไปที่ “Domains” และหลังจากนั้นคลิกปุ่มที่อยู่มุมขวาบนชื่อ “Buy new domain”  เราจะพบกับหน้าต่างด้านล่างนี้

ในกรณีนี้ ผมอยากได้ชื่อโดเมนของเว็บไซต์เป็น www.yourstandingdesk.com ผมจึงพิมพ์ “yourstandingdesk” ลงไปในช่องว่าง และคลิก “Check Availability” ซึ่ง Shopify จะทำการตรวจสอบว่าสามารถใช้ URL นี้ได้หรือไม่ (เราสามารถเช็คชื่อโดเมนล่วงหน้าได้ที่ name.com) หากชื่อโดเมนของเราสามารถใช้ได้ ระบบจะดำเนินการให้เรากรอกข้อมูลใบเสร็จชำระเงินในการซื้อชื่อโดเมนครั้งนี้

เมื่อเราซื้อชื่อโดเมนเรียบร้อยแล้ว เราจะถูกพาไปในหน้าที่ถามว่า ต้องการให้ traffic ทั้งหมดวิ่งเข้าสู่โดเมนอันใหม่นี้หรือไม่  สำหรับผมคำตอบคือใช่ ผมจึงเลือกโดเมน “yourstandingdesk.com” และคลิก save

หลังจากนั้นเราจะได้รับอีเมลจาก Shopify เพื่อยืนยันการสั่งซื้อชื่อโดเมนของเรา  อย่าลืมคลิกยืนยันในอีเมล ไม่เช่นนั้นชื่อโดเมนของเราอาจจะถูกยกเลิกได้  หลายคนมักมองข้ามรายละเอียดเล็ก ๆ อันนี้ ส่งผลให้การดำเนินการเกิดความผิดพลาด  เพราะฉะนั้นการคลิกยืนยันทันทีในขณะที่เรายังไม่ลืมคือวิธีที่ปลอดภัยที่สุด

ขั้นตอนที่ 3: สร้าง Email Forwarding

หลังจากที่เราซื้อชื่อโดเมนและทำการยืนยันในอีเมลเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการสร้าง email forwarding ให้กับเว็บไซต์ (ร้านค้า) ของเรา

ในเมนู “Online Store” ให้คลิก “Domain” เราจะเห็นหัวข้อใหญ่ “Manage domains” ตามรูปด้านล่าง

ให้เลือกชื่อโดเมนที่เราพึ่งซื้อไป ซึ่งชื่อโดเมนของผมที่ซื้อไว้ก็คือ “yourstandingdesk.com”  เมื่อเลือกเสร็จเราจะถูกพาไปหน้า “Email Forwarding”

Email Forwarding นั้นหมายถึงเมื่อลูกค้าหรือผู้จำหน่ายสินค้า ส่งอีเมลให้กับผมที่ info@yourstandingdesk.com อีเมลนั้นจะถูกส่งต่อไปที่อีกอีเมลหนึ่งของผมโดยอัตโนมัติ   Shopify จะส่งต่ออีเมลต่าง ๆ ไปที่อีเมลที่เราใช้ลงทะเบียนกับ Shopify ในตอนแรก  หากเราอยากเปลี่ยนอีเมลนี้ก็สามรถทำได้ในขั้นตอนนี้

Shopify จะทำการสร้าง email forwarding ไว้สองที่อยู่ (addresses) โดยอัตโนมัติ ซึ่งก็คือ info@ กับ sales@ แต่ผมแนะนำให้เราสร้างอีกที่อยู่หนึ่งคือ customerservice@  เพราะเมื่อลูกค้าหรือผู้จำหน่ายสินค้าเข้ามาในเว็บไซต์ของเรา โดยปกติพวกเขาต้องการรู้ว่าสามารถติดต่อกับทีมบริการลูกค้าของเว็บไซต์ได้หรือไม่ (แม้ทั้งทีมจะมีแค่เราเพียงคนเดียว) ด้วยประเด็นนี้ ผมเลยสร้าง customerservice@yourstandingdesk.com ไว้ทันที

สิ่งสำคัญ* email forwarding ใน Shopify จะทำให้ผู้คนติดต่อกับเราได้โดยใช้อีเมลที่มีชื่อโดเมนของเราอยู่  แต่เมื่อเราตอบกลับลูกค้าจะเห็นอีเมลของเราเป็นอีกบัญชีหนึ่ง ซึ่งก็คือบัญชีที่ Shopify ส่งอีเมลต่อ (forward) ไปให้กับเรา  เมื่อเราซื้อชื่อโดเมนและสร้าง email forwarding เรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการเลือกธีมใน Shopify ซึ่งเป็นภาพลักษณ์และโครงสร้างพื้นฐานของเว็บไซต์เรา

ขั้นตอนที่ 4: เลือกธีมให้กับร้านค้าของเรา

Shopify ทำให้การสร้างเว็บไซต์ที่ดูดีทั้งในคอมพิวเตอร์และมือถือกลายเป็นเรื่องง่าย  คงเคยเห็นเวบที่ไม่รองรับมือถือใช่มั้ยครับ ที่เปิดดูแล้วตัวเล็กๆ อ่านไม่ออก ต้องซูมตลอด แต่ถ้าใช้ shopify ก็ไม่มีปัญหานี้ ตัวร้าน Drop Shipping ของเราใน Shopify ก็เปรียบเสมือนรากฐานหรือหัวใจของเว็บไซต์นี้  ส่วนธีมซึ่งเป็นสิ่งที่นำมาเพิ่มเติมทีหลัง ก็เปรียบเสมือนของตกแต่งที่ทำให้หน้าร้านเราสวยขึ้น  การเลือกธีมเป็นการกำหนดดีไซน์และโครงสร้างพื้นฐานของร้านค้าเรา

จาก “Online Store” ให้คลิกแทป “Themes”  หลังจากนั้นในมุมขวาบน ให้คลิกปุ่มที่เขียนว่า “Visit Theme Store”  เมื่อคลิกแล้ว Shopify’s theme store จะถูกเปิดขึ้นในอีกหน้าต่างหนึ่ง

เราจะพบว่า Shopify มีธีมให้เราเลือกมากมาย ซึ่งมีทั้งแบบฟรีและแบบพรีเมียม (จ่ายตัง)  แบบพรีเมียมจะมีราคาประมาณ $150  เราสามารถค้นหาธีมที่ต้องการโดยการกำหนดราคา ค้นหาจากธีมยอดนิยม หรือธีมที่เหมาะกับธุรกิจประเภทต่าง ๆ โดยเฉพาะได้ สำหรับคนเริ่มต้นแนะนำให้ใช้แค่ theme ฟรีก็พอ พอสินค้าเริ่มขายได้ค่อยเปลี่ยน theme ก็ไม่สาย

สำหรับ YourStandingDesk ของผม ผมต้องการธีมประเภทฟรี ที่มีภาพลักษณ์เหมาะกับร้านขายเฟอร์นิเจอร์  ไม่นานผมก็หาเจอธีมที่ต้องการถึง 2 ธีม และเมื่อคลิก “View Demo” ผมก็สามารถเห็นตัวอย่างหน้าตาเว็บไซต์ของผมเมื่อใช้ธีมนี้ได้

สุดท้ายผมตัดสินใจเลือกธีมที่มีชื่อว่า “Supply”

เราสามารถคลิกดูฟังก์ชันต่าง ๆ ของธีมในโหมดทดลอง (demo) ได้ รวมถึงการลองคลิกเลือกสินค้าใส่รถเข็น เพื่อให้เราได้เข้าใจว่าผู้บริโภครู้สึกอย่างไรเมื่อเข้ามาใช้บริการในเว็บไซต์เรา

เมื่อเราเจอธีมที่ถูกใจแล้วให้คลิก “Install Theme” หลังจากนั้นเราสามารถเลือกได้ว่าจะใช้เป็นธีมของเว็บไซต์เราเลยทันที (publish) หรือแค่ดาวน์โหลดธีมไว้ก่อน (unpublished) ซึ่งจะยังไม่มีผลกระทบใด ๆ ต่อเว็บไซต์เรา

ผมเลือกใช้ธีม Supply กับเว็บไซต์ผมทันที การดาวน์โหลดธีมนั้นใช้เวลาไม่นาน เมื่อไปที่แทป“Theme” หลังจากดาวน์โหลดเสร็จแล้ว ผมก็พบว่าธีม Supply ได้ถูกอัพเดตไปในร้านค้าของผมเรียบร้อยแล้ว

คราวนี้ถึงเวลาที่เราจะต้องปรับแต่งธีม (Theme Customization) ของเราให้มีเอกลักษณ์แตกต่างจากร้านคนอื่น และตอบโจทย์ลูกค้าเฉพาะกลุ่มของเราได้  ให้คลิกที่ปุ่ม “Customize Theme” ด้านมุมขวาบน ระบบจะพาเราไปอีกหน้าหนึ่งซึ่งมีเครื่องมือให้เราปรับแต่งธีมมากมาย

ในหน้านี้เราสามารถเลือกสีและฟ้อนท์ (fonts) ให้กับเว็บไซต์เราได้ รวมถึงการเลือกสินค้าที่จะนำมาแสดงบนหน้าต่าง ๆ ในร้านค้าของเรา (อธิบายเพิ่มเติมทีหลัง)

แม้แต่ธีมที่ให้ฟรี เราก็สามารถปรับแต่งให้ออกมาได้หลากหลายรูปแบบหลายสไตล์  การจะทำให้หน้าตาร้านค้าเราเหมือนกับภาพในหัวเราเป้ะ ๆ อาจจะต้องใช้เวลาสักหน่อย เราจึงยังไม่ต้องสนใจรายละเอียดในเรื่องนี้มากนัก  ให้เราปรับเปลี่ยนบางอย่างที่สำคัญ ที่ทำให้ร้านค้าเราเริ่มมีรูปร่างหน้าตาขึ้นมาบ้างก็พอ เพราะยังมีอีกหลายสิ่งที่เราต้องทำก่อนจะเปิดร้านค้าได้

คำเตือน* อย่าเพิ่งลงมือปรับแต่งในรายละเอียดเล็ก ๆ ของธีม มันยังไม่จำเป็นและเสียเวลามาก เพราะขั้นตอนต่อไปเราจะทำการเพิ่มฟังก์ชันที่สำคัญให้กับร้านค้าของเราเช่น หน้าเพจต่าง ๆ  รายการสินค้า รวมถึงรีวิวจากลูกค้า  สิ่งสำคัญหลัก ๆ เหล่านี้จะมีผลต่อรายละเอียดการตกแต่งย่อย ๆ ของร้านค้าเราในภายหลังเอง 

ขั้นตอนที่ 5: เพิ่มหน้าเพจสำคัญในร้าน Drop Shipping

ธีมที่เราเลือกจาก Shopify อาจจะมีหน้าเพจต่าง ๆ ติดตัวมาอยู่แล้ว  แต่ในการสร้างความประทับใจให้กับลูกค้าและผู้จำหน่ายสินค้า เราจำเป็นต้องมีหน้าเพจที่สำคัญเหล่านี้

  • Homepage
  • About Us
  • Product Page
  • Returns
  • Contact Us

เรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเนื้อหาสำคัญในเรื่องนี้ได้ที่ Ultimate Guide to Drop Shipping

Shopify ทำให้การเพิ่มและการออกแบบหน้าเพจเป็นเรื่องง่าย

เริ่มแรกให้เราไปที่ “Online Store” และคลิกแทป “Pages” เราจะพบหน้าต่างตามรูปด้านล่างนี้

เราจะเห็นได้ว่าตอนนี้เรามีแค่หน้าเพจ “About Us” กับ “Home Page”  ให้เราลงมือใส่เนื้อหาในหน้า About Us ก่อนเลย ซึ่ง Shopify จะมีจุดไกด์ไลน์ช่วยให้เราเขียนเนื้อหาได้อย่างเรียบร้อยตามแพลตฟอร์ม  แต่เราก็สามารถใส่เนื้อหาหรือข้อความที่เราต้องการสื่อสารกับลูกค้าหรือผู้จำหน่ายสินค้าของเราลงไปได้เช่นกัน

เมื่อเราได้ใส่เนื้อหาในหน้า About Us เรียบร้อยแล้ว ให้เรากดปุ่มด้านขวาบน “Preview” ซึ่งจะแสดงให้เห็นว่าเพจนี้จะมีหน้าตาออกมาเป็นอย่างไร

เมื่อเราพอใจกับหน้า About Us ของเราแล้ว ให้คลิก “Save” และเริ่มลงมือใส่เนื้อหาในหน้าเพจที่สำคัญอื่น ๆ ต่อไป  ในการเพิ่มหน้าเพจที่เรายังไม่มี คลิก “Add page” ที่อยู่มุมขวาบนตามรูปด้านล่าง

การใส่ภาพหรือวิดีโอลงในหน้าเพจของเราเป็นเรื่องง่ายมาก  เพียงแค่คัดลอกภาพหรือวิดีโอจากแหล่งต่าง ๆ แล้วนำมาวางแปะได้เลย

เพื่อให้มั่นใจว่าหน้าเพจนี้จะออกมาแบบที่เราต้องการ คลิก “Preview” เพื่อดูผลลัพธ์

เมื่อเราพอใจกับผลลัพธ์แล้ว ก็ให้สร้างหน้าเพจอื่นต่อได้เลย  อย่าเพิ่งสนใจรายละเอียดเล็ก ๆ ตอนนี้มากนัก เพราะเราสามารถกลับมาแก้ไขทีหลังได้เมื่อร้าน Drop Shipping ของเราเสร็จสมบูรณ์  การปรับปรุงข้อมูลรวมถึงหน้าตาของเว็บไซต์อย่างสม่ำเสมอ จะทำให้เราเปลี่ยนผู้เข้าชมเว็บไซต์ธรรมดาให้กลายเป็นลูกค้าของเราได้มากขึ้น (conversion rate optimization) แต่ตอนนี้ให้เราสร้างเพจที่สำคัญให้ครบถ้วนเสียก่อน

เมื่อเราได้สร้างหน้าเพจที่สำคัญแบบคร่าว ๆ ครบถ้วนแล้ว ให้ไปที่ “Online Store” และไปที่ “Navigation” และเช็คให้มั่นใจว่าหน้าเพจต่าง ๆ ของเราจะถูกแสดงขึ้นในเมนู Home Page

เคล็ดลับ* เราสามารถกำหนดการเปลี่ยนแปลงข้อมูลในหน้าเพจของเราให้แสดงผลทันที หรือกำหนดวันเวลาให้แสดงผลในอนาคตก็ได้ ที่กล่อง Visibility ซึ่งอยู่มุมขวาบนของหน้าที่เราใส่ข้อมูลในแต่ละเพจ

ขั้นตอนที่ 6: เพิ่มสินค้าและ Collection สินค้า

ขั้นตอนนี้จะแสดงให้เห็นถึงศักยภาพทาง e-commerce ของ Shopify มากมาย  ขั้นตอนที่ผ่านมาเราอาจจะเคยพบเห็นในเว็บไซต์หรือ blog ต่าง ๆ มาบ้างแล้ว แต่นี่คือสิ่งที่ทำให้ Shopify คือเว็บไซต์ที่น่าสนใจ

เพิ่มสินค้าชิ้นแรกของเรา

หลังจากมีเพจสำคัญต่าง ๆ ครบถ้วนแล้ว ให้เราเพิ่มสินค้าของเราเข้าไปในเว็บไซต์ โดยไปที่แทป “Products” ซึ่งอยู่ด้านบนของแทป “Online Store” ตามภาพด้านล่าง

ให้เราคลิกที่ปุ่มสีฟ้า “Add product” แล้วเราจะพบกับหน้าที่ให้ใส่รายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับสินค้าชิ้นแรกของเรา

สำหรับร้านค้าของผม ผมจะใส่รายละเอียดเกี่ยวกับสินค้า Luxor 60” Crank Adjustable Standing Desk ลงไป ซึ่งเป็นหนึ่งในสินค้าที่น่าสนใจจากผู้จำหน่ายสินค้าของผม

สำหรับข้อมูลและรูปภาพสินค้า ผมได้นำมาจากเว็บไซต์ของผู้จำหน่ายสินค้าโดยตรงเลย ซึ่งสามารถทำได้ตราบเท่าที่เราเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าของเขาอยู่ เว็บไซต์ของผู้จำหน่ายสินค้าจะมีข้อมูลสินค้าให้เราใช้มากมายไม่ว่าจะเป็นรายละเอียด สเปค รูปภาพ รวมถึงคู่มือการใช้สินค้า  ผู้จำหน่ายสินค้าจะอนุญาตให้เราใช้ข้อมูลเหล่านี้ได้อย่างเต็มที่ เพราะเขาต้องการให้เราขายสินค้าและแบรนด์ของเขาให้ได้ เพราะฉะนั้นไม่ต้องกังวลในการใช้ข้อมูลเหล่านี้

อันดับแรกผมจะทำการใส่ชื่อ รายละเอียด และสเปคของสินค้าผมลงไปก่อน  หลังจากนั้นผมจะใส่ข้อมูลในหัวข้อ “Organization” ที่อยู่ทางด้านขวามือ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะทำให้ลูกค้าค้นหาสินค้าของผมเจอง่ายขึ้น

Product Organization:

  • Product Type: จัดหมวดหมู่ตามประเภทของสินค้า (เช่น standing desk, adjustable desk)
  • Vendor: จัดหมวดหมู่ตามแบรนด์
  • Collections: ใส่สินค้าเข้าไปใน collection เฉพาะของเรา (เช่น Collection โต๊ะสำหรับผู้บริหาร)
  • Tags: ทำให้ลูกค้าหาสินค้าของเราเจอตามลักษณะเฉพาะต่าง ๆ (เช่น ความสูง วัสดุ สามารถเคลื่อนที่ได้)

เมื่อเลื่อนลงมาเราจะพบส่วนที่ให้ใส่รูปภาพสินค้าและตั้งราคา ในส่วนของราคานั้นผมตั้งไว้ที่ $350 ซึ่งเป็นราคาต่ำสุดที่ผู้จำหน่ายสินค้าของผมอนุญาต  อีกทั้งผมยังใส่ราคาที่ลูกค้าทั่วไปชอบค้นหาอีกด้วยที่ $665 เพื่อให้ลูกค้ารู้ว่าในราคา $665 ผมมีสินค้าอะไรให้กับพวกเขาบ้าง

การใส่ราคาเลยจะทำให้ผู้จำหน่ายสินค้าตรวจสอบได้ว่าราคาในร้านค้าของเราเป็นราคาที่เขาอนุณาตหรือไม่  ผมได้ติ๊กกล่องเล็ก ๆ ด้านล่างอีกด้วย ซึ่งเป็นคำสั่งให้ Shopify คิดภาษีโดยอัตโนมัติเมื่อลูกค้าตัดสินใจซื้อสินค้าชิ้นนี้

เมื่อเลื่อนลงมาอีกเราจะพบตัวเลือกให้เราสามารถตรวจสอบสต๊อกสินค้า (track inventory) คิดราคาส่งจากน้ำหนักสินค้า (shipping weight) และการมีสินค้าตัวเดียวกันหลาย ๆ รุ่น (Variants) ได้  ในเมื่อธุรกิจ Drop Shipping นั้นไม่มีคลังสต๊อกสินค้า เราจึงไม่จำเป็นต้องใช้งานในส่วนของ track inventory  ส่วนในช่อง shipping weight ปกติผู้จำหน่ายสินค้าจะเป็นคนกำหนดราคาในส่วนนี้เองหรือกำหนดว่าไม่ต้องมีก็ได้ ดังนั้นให้เราปล่อยว่างไว้

Variants คือส่วนที่ผมใส่ข้อมูลลงไป เพราะสินค้าตัวเดียวกันของผมนั้นมีให้เลือกหลายรุ่นมากมาย ซึ่งแต่ละรุ่นจะแตกต่างกันในเรื่องสี ดีไซน์ และวัสดุ  การมีตัวเลือกที่หลากหลายในสินค้าตัวเดียวกันสามารถความประทับใจให้กับลูกค้าได้ และยังทำให้พวกเขาเจอสินค้าที่พวกเขาต้องการเร็วขึ้นอีกด้วย

เมื่อผมคลิก “Save” สินค้าของผมก็พร้อมขึ้นโชว์ในเว็บไซต์ทันที

เพิ่ม Collection ด้วยเงื่อนไขอัตโนมัติ (Automatic Conditions)

Shopify อนุญาตให้เราจัดสินค้าเป็นกลุ่ม Collection ได้ ไม่ว่าจะตามประเภทสี แบรนด์ คุณลักษณะต่าง ๆ หรือแม้กระทั่งยุคสมัย เช่น “Collection โต๊ะโมเดิร์นออฟฟิศ” การจัดสินค้าเป็น Collection จะทำให้ลูกค้าเจอสินค้าที่พวกเขาต้องการได้ง่ายขึ้น

ยกตัวอย่างเว็บไซต์ของผมจะมีกลุ่ม “Electric Adjustable Height Desk” หรือโต๊ะไฟฟ้าระดับสูงที่สามารถปรับได้

เนื่องจากผมมีสินค้าในแบรนด์ Luxor มากมาย ผมจึงสร้าง Collection แบรนด์ Luxor ขึ้นมาด้วย โดยผมไปที่หน้า “Product” และคลิก “Collections” ซึ่งอยู่ทางซ้ายมือ  หลังจากนั้นจะมีหน้าที่ให้เราใส่ข้อมูลเกี่ยวกับแบรนด์ขึ้นมา โดยผมใช้ข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้มาจากเว็บไซต์ผู้แทนจำหน่ายอีกเช่นเคย

ในหน้านี้ผมสามารถเลือกที่จะใส่สินค้าแบบทีละชิ้น หรือใส่แบบอัตโนมัติตามเงื่อนไขที่ผมตั้งไว้ก็ได้  ในช่วงแรก ๆ ที่จำนวนสินค้าของเรายังมีไม่เยอะ การเลือกใส่สินค้าไปใน Collection ทีละชิ้นอาจจะเป็นวิธีที่เราชอบ แต่ในระยะยาวเมื่อเรามีสินค้าจำนวนมากแล้ว การเลือกใส่แบบอัตโนมัติย่อมสะดวกและประหยัดเวลากว่าแน่นอน การตั้งเงื่อนไขให้ใส่แบบอัตโนมัตินั้นใช้เวลาไม่นานอีกด้วย

สินค้าที่มีลักษณะตรงตามเงื่อนไขจะถูกเพิ่มเข้าไปใน Collection ที่เรากำหนดไว้ทันที  เราสามารถเช็คได้ว่าเงื่อนไขอัตโนมัติของเราทำงานหรือยังตามภาพด้านล่างนี้ (จะมีคำว่า AUTO ต่อท้ายชื่อสินค้า)

หากเราอยากสร้าง Collection ใหม่ขึ้นมาให้กับสินค้าที่มีอยู่แล้วก็สามารถทำได้เช่นกัน อย่างเช่น Collection ใหม่ของเราคือ “โต๊ะราคาต่ำกว่า 500 บาท” เราก็สามารถตั้งเงื่อนไขให้โต๊ะที่มีราคาต่ำกว่า 500 บาท ของเรา (ซึ่งอาจจะอยู่ใน Collection อื่นด้วยอยู่แล้ว) ถูกใส่เข้าไปใน Collection ใหม่นี้ได้โดยอัตโนมัติ

ไม่ต้องใส่ข้อมูลใหม่ทั้งหมด หากสินค้าใหม่เหมือนกับสินค้าเดิม

หากเราต้องการเพิ่มสินค้าใหม่ที่มีข้อมูลรายละเอียดเหมือนกับสินค้าเดิมเข้าไปในเว็บไซต์ของเรา เราสามารถคลิกปุ่ม “Duplicate” ซึ่งจะคัดลอกข้อมูลเดิมทั้งหมดมาให้สินค้าใหม่ของเราได้ เพื่อเราจะได้ไม่ต้องเขียนข้อมูลใหม่ทั้งหมดตั้งแต่ต้น  ปุ่ม “Duplicate” จะอยู่ทางมุมขวาบนในหน้าแก้ไขข้อมูลสินค้าของเรา ตามรูปด้านล่าง

เมื่อคลิกแล้วจะพบกับหน้าต่างต่อไปนี้

ให้คลิก “Duplicate” อีกครั้ง แล้วเราก็จะมีข้อมูลสินค้าใหม่ที่เหมือนกับสินค้าเดิมไม่ว่าจะเป็นชื่อ รายละเอียด รูปภาพ หรือ tag ต่าง ๆ เป็นต้น

ทำไม Duplication ถึงเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์มากมาย

สมมติว่า 48” Crank Adjustable Standing Desk คือสินค้าตัวใหม่ที่ผมต้องการเพิ่มเข้าไปในร้านค้า ซึ่งสินค้าเดิมที่ผมมีอยู่แล้วอย่าง 60” Crank Adjustable Standing Desk มีลักษณะแทบจะเหมือนกันทุกอย่าง ผมจึงกด Duplicate ข้อมูลของสินค้าตัวหลังและเปลี่ยนแค่ชื่อ ราคา กับรูปภาพ ผมก็จะมีข้อมูลสินค้าตัวใหม่ในร้านค้าทันที โดยใช้เวลาเพียงไม่กี่อึดใจ

เพิ่มสินค้าให้ครบ แล้วตอนนี้เราก็มีสินค้าทุกชิ้นที่ตอบโจทย์ลูกค้าเฉพาะกลุ่มของเรา อยู่ในเว็บไซต์เรียบร้อยแล้ว

ซึ่งจะมีหน้าตาประมาณนี้ ตามภาพด้านล่าง

ขั้นตอนที่ 7: กลับไปที่การปรับแต่งธีมอีกครั้ง

หลังจากที่เรามีหน้าเพจสำคัญต่าง ๆ และรายการสินค้าในเว็บไซต์ของเราครบถ้วนแล้ว ให้เรากลับไปปรับแต่งธีมอีกครั้ง โดยไปที่ “Online Store” แล้วคลิก “Theme” หลังจากนั้นคลิก “Customize Your Theme” ตามรูปด้านล่าง

การมีข้อมูลสินค้าและหน้าเพจต่าง ๆ ครบถ้วนแล้วจะทำให้เราเห็นภาพได้ชัดเจนขึ้นว่าเว็บไซต์ของเราจะมีหน้าตาออกมาอย่างไร  สิ่งที่ผมชอบเกี่ยวกับธีม “Supply” ที่ผมได้เลือกไว้ตอนแรกคือการที่ธีมนี้มีสไลด์โชว์สินค้าในหน้า homepage ให้กับเรา  สิ่งที่ผมต้องทำก็แค่เพียงใส่รูปสินค้าพร้อม URL ที่จะลิงค์ไปหน้าเพจของสินค้านั้น ๆ ในแต่ละสไลด์ หน้า homepage ของเว็บไซต์ผมก็จะมีสไลด์โชว์สินค้าให้ลูกค้าเลื่อนดูเพลิน ๆ ทันที

ผมแนะนำให้เราไปที่แทป Social Media และใส่ลิงค์ Social Media ต่าง ๆ ของเราไว้ด้วย  เมื่อใส่เสร็จเรียบร้อยเราก็จะมีไอคอน Social Media ต่าง ๆ อยู่บนหน้าเว็บไซต์เรา ซึ่งเมื่อลูกค้าคลิกไอคอนเหล่านี้ พวกเขาก็จะพบกับเพจ Social Media ต่าง ๆ ของเราทันที  การทำเช่นนี้จะช่วยให้เราเชื่อมต่อกับลูกค้าได้ทั่วถึงมากขึ้น

แม้เพจใน Social Media ของผมจะยังไม่มีผู้ติดตาม แต่ผมก็เปิดไว้ก่อนเลยเพื่อให้ผู้จำหน่ายสินค้าเห็นว่าเรามีการเข้าหาลูกค้าและสร้างแบรนด์ทาง Social Media เช่นกัน ซึ่งการสร้างเพจใน Social Media ยอดฮิตต่าง ๆ นั้นล้วนแล้วฟรีแถมใช้เวลาในการสร้างแค่นิดเดียวเอง

แต่ตอนนี้เราไม่จำเป็นต้องสนใจกับการสร้างโปรไฟล์ใน Social Media มากนัก เพราะเราสามารถทำได้ในภายหลัง สิ่งสำคัญตอนนี้คือการให้ Social Media ของเราเชื่อมต่อกับ Shopify เท่านั้น เพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงสินค้าเราได้ง่ายขึ้นเวลาอยู่บนอินเตอร์เนท

เคล็ดลับ* ในภายหลัง เราสามารถขายสินค้าบน Social Media ต่าง ๆ ของเราโดยตรงได้ โดยไปที่ Settings และเลือกช่องทางการขาย (Sales Channels) (Shopify จะอธิบายวิธีการทำงานในแต่ละช่องทาง: Pinterest Facebook และ Twitter)

ในขณะที่เรายังอยู่ในหน้า “Customize Your Theme” ให้คลิกที่แทป “Products Page” ซึ่งอยู่ทางด้านขวามือ ใต้หัวข้อนี้ เราจะสามารถเลือกฟังก์ชันต่าง ๆ และกำหนดได้ว่าต้องการให้หน้ารายการสินค้าของเรา (product listing page) แสดงข้อมูลอะไรบ้าง

ผมเลือกฟังก์ชันที่เขียนว่า “Enable image zoom” ซึ่งจะทำให้ลูกค้าสามารถซูมภาพสินค้าของเราได้ รวมถึง “Show compare at price” ที่ช่วยให้ลูกค้าปรียบเทียบราคาสินค้าต่าง ๆ ได้  ผมแนะนำให้เราติ๊กกล่องที่เขียนว่า “Enable product reviews” ด้วย ซึ่งเป็นการเปิดให้ลูกค้าเขียนรีวิวเกี่ยวกับสินค้าเรา

แต่การจะให้ลูกค้ารีวิวสินค้าของเราได้นั้น เราจะต้องมีแอปของ Shopify เสียก่อน ซึ่งผมจะอธิบายในขั้นตอนต่อไป

ขั้นตอนที่ 8: เพิ่มแอปรีวิวให้กับลูกค้า (ฟรี)

Shopify มี App Store ที่มีแอปพลิเคชันให้เราเลือกมากมายทั้งแบบ add-ons และ plug-ins ซึ่งแต่ละแอปนั้นจะทำหน้าที่เพิ่มลูกเล่นและฟังก์ชันต่าง ๆ ให้กับเว็บไซต์ของเรา ไม่ว่าจะเป็นข้อเสนอแบบ pop-up การจัดการด้านบัญชี การวิเคราะห์ต่าง ๆ ทางธุรกิจ และอื่น ๆ อีกมากมาย

ทั้งนี้ใน App Store จะมีทั้งแอปที่ต้องเสียตังและฟรี ส่วนแอปรีวิวสินค้าที่เราจะทำการเพิ่มเข้าไปให้กับเว็บไซต์เรานั้นฟรีครับ การเปิดให้มีการรีวิวจะช่วยชักชวนให้ลูกค้ารายอื่นสนใจในสินค้าของเรามากขึ้น เมื่อพวกเขาได้อ่านความคิดเห็นของลูกค้ารายอื่น

การเพิ่มแอปเข้าไปในเว็บไซต์ของเราอาจจะซับซ้อนกว่าการโหลดแอปในมือถือนิดหน่อย แต่ไม่ได้ยากขนาดนั้น  เมื่อเราเข้าไปดาวน์โหลดแอปรีวิว (ชื่อว่า Product Reviews) และทำตามขั้นตอนต่าง ๆ สุดท้ายเราจะถูกพากลับมาหน้าเว็บไซต์ของเราเพื่อยืนยันว่าเราจะติดตั้งแอปตัวนี้เข้าไปในเว็บหรือไม่  เมื่อคลิก “Install App” เราจะพบกับหน้าต่างด้านล่างนี้

4 ขั้นตอนง่าย ๆ ในการเพิ่มแอปรีวิวไปในเว็บไซต์ของเรา

  • ให้คลิกลิงค์สีฟ้าที่เขียนว่า “Click here to copy to your clipboard” ซึ่งเป็นการคัดลอก โค้ดให้กับเราโดยอัตโนมัติ
  • ให้เราเปิดลิงค์ที่เขียนว่า templates/product.liquid file ซึ่งเราจะพบกับหน้าต่างต่อไปนี้

หลังจากนั้นให้เราวางโค้ดที่เราคัดลอกไว้ใต้ tag ที่เขียนว่า “product.description” ซึ่งสามารถหาเจอได้โดยการกด ctr+f และพิมพ์คำที่เราต้องการค้นหาลงไป  เมื่อวางโค้ดใต้ tag นี้เรียบร้อยแล้ว ให้คลิก “Save”

  • ต่อไปคือการเพิ่มฟังก์ชันให้ลูกค้าใส่ “ดาว” ในการรีวิวสินค้าของเราได้ ซึ่งเราเลือกที่จะไม่เพิ่มก็ได้ แต่ผมแนะนำว่าใส่ดีกว่าครับเพราะจำนวนดาวจะช่วยสะท้อนคุณภาพสินค้าของเราได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ให้คลิกที่ “View Instructions” ซึ่งเราจะพบลิงค์สีฟ้าเหมือนอันเดิม “Click here to copy to your clipboard” ให้เราคลิกเพื่อคัดลอกโค้ดไว้อีกเช่นเคย หลังจากนั้นให้คลิกที่ลิงค์ “snippets/product-grid-item.liquid ที่อยู่ถัดลงมาด้านล่าง เพื่อนำโค้ดนี้ไปวางแทรกไว้ใน “กลุ่มโค้ดที่เกี่ยวกับ product” ของเรา ซึ่งจะมีลักษณะตามรูปด้านล่างนี้

เมื่อวางโค้ดเรียบร้อยแล้ว ให้คลิก “Save” ทีนี้เมื่อเรากลับไปหน้าเพจสินค้าในเว็บเรา เราก็จะพบกล่อง customer reviews อยู่ด้านล่างตามภาพข้างล่างนี้

และหากเรากลับไปหน้าหลัก (dashboard) และคลิกที่ “Apps” เราจะพบว่าแอปรีวิวได้ถูกติดตั้งไปในเว็บไซต์ของเราแล้วเช่นกัน ตามรูปด้านล่าง

  • จุดนี้หากเราคลิกที่โลโก้ของแอป เว็บไซต์จะพาเราไปอีกหน้าหนึ่งซึ่งทางมุมขวาบนจะมีปุ่ม “Settings” อยู่ ใน “Settings” เราสามารถกำหนดได้ว่าจะให้รีวิวที่ลูกค้าเขียนนั้นขึ้นบนเว็บไซต์ของเราเลยหรือต้องผ่านการอนุมัติจากเราก่อน  หรือการเลือกให้มีการแจ้งเตือนทางอีเมลเวลามีลูกค้าเขียนรีวิว รวมถึงการกำหนดว่าผู้เขียนรีวิวจะต้องใส่ชื่อ อีเมล หรือที่อยู่ด้วย ก็สามารถทำได้เช่นกัน

เมื่อถึงขั้นตอนนี้คุณก็พร้อมที่จะเปิดร้านขายสินค้าได้แล้ว (โดยสิ่งที่ต้องการคือการอนุมัติจากทางฝ่ายผู้จำหน่ายสินค้าและการเซ็นสัญญาในการเปิดร้าน Drop Shipping นี้)  สิ่งเดียวที่เราขาดตอนนี้คือการเลือกแพคเกจจาก Shopify (Shopify Plan)

ขั้นตอนที่ 9: เลือกแพคเกจจาก Shopify (Shopify Plan)

การทดลองใช้ shopify 14 วัน (Shopify’s free 14-day trial) ช่วยให้เราสามารถเปิดร้านค้าและทำความคุ้นเคยกับการจัดการสิ่งต่าง ๆ ภายในเว็บไซต์ได้เป็นอย่างดี แต่หากเราต้องการจะก้าวเข้าสู่ธุรกิจนี้จริง ๆ เราจะต้องเลือกซื้อแพคเกจที่ Shopify มีให้เลือกไว้ 4 แบบ  เราควรเลือกแพคเกจที่เหมาะสมกับลักษณะธุรกิจของเรา รวมถึงคำนึงถึงข้อมูลต่อไปนี้ด้วย

  • ­แพคเกจจะเป็นแบบเดือนต่อเดือน ยกเว้นเราลงทะเบียนแบบต่อปี หรือแบบสองปี
  • แพคเกจแบบต่อปีจะได้รับส่วนลด 10% ส่วนแบบสองปีจะได้รับส่วนลด 20%
  • เราสามารถเปลี่ยนแพคเกจเมื่อไรก็ได้
  • เราสามารถยกเลิกแพคเกจเมื่อไรก้ได้

แพคเกจ 4 แบบประกอบไปด้วย

  • Free Trial: ฟรี / คุณสมบัติเหมือน basic shopify
  • Basic shopify: $29 ต่อเดือน / จำนวนสินค้าไม่จำกัด / บริการช่วยเหลือ 24 ชม. / มีการขายบน Social Media
  • Shopify: $79 ต่อเดือน / มีทุกอย่างเหมือน Basic Plan แถม gift cards / cart recovery และการรายงานที่ดียิ่งขึ้น / ค่าธรรมเนียมบัตรเครดิตต่ำกว่า
  • Advanced shopify: $179 ต่อเดือน / มีทุกอย่างเหมือน shopify plan พร้อมการรายงานและการจัดส่งที่ดียิ่งขึ้น / ค่าธรรมเนียมบัตรเครดิตต่ำกว่าแบบ shopify plan

หากร้าน Drop Shipping ของเราเป็นร้านเปิดใหม่ แนะนำให้ลองแบบ free trial ก่อน จากนนั้นผมแนะนำให้เราเลือกแพคเกจแบบ Basic shopify plan ก็เพียงพอ เพราะมีบริการช่วยเวลาเกิดปัญหาต่าง ๆ   ส่วนสิทธิพิเศษต่าง ๆ ในแพคเกจแบบ shopify และ advanced shopify ยังไม่สามารถทำประโยชน์ให้กับร้านค้าของผมได้มากนัก เนื่องจากจำนวนลูกค้าที่เข้าเว็บไซต์ของผม (traffic) รวมถึงปริมาณการขายยังมีไม่มากนัก ผมเลยตัดสินใจไม่เลือกแพคเกจสองแบบนี้

เมื่อกดเลือกแพคเกจแบบ Basic Plan เราสามารถเลือกรอบเวลาในการส่งใบแจ้งชำระเงินได้ ตามรูปด้านล่าง

ผมเลือกอันแรกคือให้ส่งใบแจ้งชำระเงินมาทุก ๆ เดือนในราคา $29  ซึ่งหากเราเลือกจ่ายแบบล่วงหน้า 1-2 ปี จะมีส่วนลดให้กับเราอีกด้วย

เคล็ดลับ* ผมมักเลือกวิธีการชำระเงินโดยการหักผ่านบัตรเครดิตแบบอัตโนมัติ เพื่อความสะดวกและความราบรื่นในการทำธุรการต่าง ๆ ซึ่งวิธีนี้ทำให้ผมได้แต้มสะสมและรางวัลจากบัตรมากขึ้นอีกด้วย

ขั้นตอนที่ 10: ปรับการตั้งค่าใน Shopify ขั้นสุดท้าย

ขั้นตอนสุดท้ายให้เรากลับไปที่หน้าหลักของเว็บไซต์เราแล้วคลิกที่ “Settings” เพื่อเช็คข้อมูลในแทปต่าง ๆ ก่อนเปิดร้าน

เริ่มจากการไปที่แทป Online Store เพื่อเช็คดูว่า Homepage Title กับ Meta Description (ชื่อลิงค์และคำอธิบายสั้น ๆ ของเว็บไซต์เราที่แสดง เมื่อลูกค้าทำการค้นหาทางอินเตอร์เนท) นั้นถูกต้องหรือยัง

Meta description เป็นเหมือนคำโฆษณาของเรา ควรเขียนให้ดี

อีกแทปหนึ่งที่ต้องจัดการคือแทป “Payments” หรือวิธีที่ลูกค้าจะชำระเงินให้กับเรา ซึ่งมีทั้งแบบPayPal หรือแบบผ่านทางบัญชีธนาคารของเรา  เราต้องกรอกข้อมูลต่าง ๆ ในจุดนี้ให้ครบถ้วน

เริ่มจากการคลิกที่ “Complete Shopify Payments account set up” ตามภาพด้านบนหลังจากนั้นเราจะต้องใส่ข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับธุรกิจของเราเช่น ชื่อทางการ ที่อยู่ โครงสร้างของธุรกิจ เลขบัตรประจำตัวประชาชน บัญชีธนาคาร เป็นต้น  เมื่อกรอกข้อมูลเรียบร้อย เราก็พร้อมที่จะรับเงินจากลูกค้าได้ทันที

สำหรับคนไทยนั้นให้รับผ่านทาง paypal เท่านั้น ไม่ต้องกังวลว่าแค่ paypal อย่างเดียวจะพอเหรอ ผมเห็น store ที่ขายได้หลักล้านดอลต่อเดือนก็มีแค่ paypal ไว้ใช้รับเงินเท่านั้น

สรุป

ถึงจุดนี้เราก็จะมีร้าน Drop Shipping ของเราเองอย่างเป็นทางการแล้ว  สิ่งสุดท้ายที่เราต้องทำก็คือการดำเนินเอกสารและสัญญาต่าง ๆ กับผู้จำหน่ายสินค้าให้ลุล่วง (ในกรณีที่ต้องใช้ แต่ส่วนใหญ่ไม่ต้อง)  เริ่มสร้างจำนวนผู้เข้าเว็บไซต์ให้มากขึ้น  และขายสินค้าชิ้นแรกของคุณให้ได้  Shopify มีฟังก์ชันและลูกเล่นต่าง ๆ ให้เราสามารถพัฒนาร้านค้าของเราได้อยู่ตลอดเวลา  หวังว่าผู้อ่านทุกท่านจะได้รับประโยชน์จากบทความนี้ และประสบความสำเร็จในธุรกิจเปิดร้าน Drop Shipping ครั้งนี้ครับ

[button size=”large” url=”https://www.hostnog.com/gotoshopify” ]ไปที่เวบ Shopify[/button]

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.

20 thoughts on “10 ขั้นตอนในการเปิดร้าน Drop Shipping กับ Shopify

  1. เลือกการ จัดส่งของผ่าน Shipping ของไทย ยังไงครับ

  2. · November 20, 2017 at 9:45 pm

    ขอบคุณมากๆเลยคะสำหรับข้อมูล เขียนได้ละเอียดมากเลยคะ เดี๋ยวจะลองทำดูคะ

  3. มีประโยชน์มากๆเลยค่ะ กำลังอยากลองเปิดร้าน
    แล้วงงในการลงของ ตกแต่งร้าน ช่วยได้เยอะเลยค่ะ
    ขอบคุณค่ะ

  4. ขอบคุณมาก ๆ สำหรับข้อมูลที่เป็นประโยชน์นะคะ เห็นได้ชัดเจนว่าคุณตั้งใจให้ข้อมูลอย่างละเอียดมาก ๆ น่าชื่นชมค่ะ 🙂

  5. ใช้paypalของคนไทยได้หรอคะ เค้าบอดว่าไม่ได้ไม่ใช่หรอคะ

  6. ได้ครับ

  7. ผมลองทำตามขั้นตอนการจ่ายเงินแล้วมันขึ้น ERROR CODE:PE101 ครับ สอบถามได้มั๊ยครับว่าเราต้องไปแก้ส่วนไหน เพราะหน้า Return/Refund Policy, Terms of Service ต่างๆ ก็แก้ไขแล้ว ขอบคุณครับผม

  8. ลองดูตามนี้นะครับ
    http://help.2checkout.com/articles/Knowledge_Article/Error-Code-PE101

  9. · January 7, 2019 at 1:18 am

    ขอบคุณมากคะที่ให้ความรู้ดีๆ..อยากลองขายสินค้าดูบ้างจังคะ อยากหารายได้เพิ่มให้กับครอบครัว ไม่รู้จะเริ่มอย่างไร ยังไม่เข้าใจเรื่องการเพิ่ใสินค้าและCollection สินค้าขั้นตอนที่ 6 คะคือ เราสามารถนำสินค้าจากเว็บไซต์ของผู้จำหน่ายสินค้ามาลงได้เลยเหรอคะ หรือต้องได้รับอนุญาตจากผู้จำหน่ายสินค้าก่อน เราจะหาข้อมูลเหล่านี้ได้อย่างไรคะ และอีกอย่าเรียนสอบถามว่า..เราสามารถขายสินค้าได้ในหมวดหมู่เดียวกันเท่านั้น หรือว่าสามารถลงได้หลายหมวด หลายประเภท ต้องสร้างหมวดหมู่ทุกครั้งหรือเปล่าคะ พอดีไม่เก่งเรื่องภาษาEng ขอบคุณมา ณ โอกาสนี้ด้วยนะคะ

  10. · February 14, 2019 at 8:33 am

    ข้อมูลมีประโยชน์มากเลยครับ ขอบคุณมากๆ เพราะผมก็กำลังตัดสินใจจะเริ่มโดยไม่รู้อะไหร่เลยเช่นกัน
    ผมอยาก Contact เพิ่มเติม ติดต่อยังไงครับ
    ผมใช้ เฟส หมอโส๊ะ จะนะ ครับ

  11. · February 14, 2019 at 8:40 am

    ขอบคุณ ข้อมูลมีประโยชน์มาก
    ทักแอดเฟสผมบ้างน่ะ ครับ อยากสร้างกลุ่ม เฟส จะได้คุยแลกเปลี่ยนความรู้กัน แบบช่วยเหลือกันครับ
    เฟส หมอโส๊ะ จะนะ

  12. ขอบคุณที่เสียสละเวลาและความรู้ เพื่อผู้ที่ต้องการศึกษาครับ

  13. สอบถามหน่อยครับ
    -Add product ตรงที่ให้ติ๊ก Charge taxes on this product ต้องติ๊กหรือเปล่าครับ
    -แล้วใน setting / Taxes ต้องไปตั้งค่าอะไรไหมครับ
    ขอบคุณครับ

  14. ไม่ต้องครับ

  15. อยากขอความช่วยเหลือค่ะ เวลาเรารับ order ลูกค้าแล้ว ส่งorder ผ่านทาง oberlo ต้องการเปลี่ยนการชำระค่าสินค้าให้ ALIEXPRESS ด้วยเงินในบัญชี paypal ได้ม๊ยค๊ะ ปกติจะขึ้นบัญชีบัตรเดบิต ค่ะ

    รบกวนด้วยน๊ะค๊ะ
    ขอบคุณค่ะ

  16. aliexpress ไม่รับ paypal นะครับ

  17. ผมมีปัญหาตรงยืนยันอีเมล์ อ่ะครับ กลัวยืนยันไม่ได้อ่ะครับ สมัครโดเมนไปแล้ว จ่ายตังแล้วอย่างทราบว่ามันผิดพลาดตรงไหนอ่ะครับ

  18. อยากทราบขั้นตอนการตั้งค่าการจัดส่ง
    ของ Basic shopify ครับ

  19. ขอบคุณมากค่ะ

  20. อยากทราบว่าจะติดต่อผู้จัดจำหน่ายสินค้าเพื่อขอเป็นตัวแทนทางไหนครับ หรือทาง Shopify มีข้อมูลให้

Table of ContentsToggle Table of Content